10 สิ่งที่ห้ามกระทำต่อเด็ก ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม

สิทธิมนุษยชนของเด็ก

สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการเลิกทาสเมื่อปี 2448 ซึ่งเป็นพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

แต่ปัจจุบัน ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงฝังรากลึก คนไทยจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิทั้งของตนเองและผู้อื่น ประกอบกับระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันไม่ได้ให้ความสำคัญสิทธิมนุษยชนมากนัก

ในโลกเรามีเด็กอยู่ประมาณ 2.3 พันล้านคน หรือเกือบหนึ่งในสามของประชากรโลกตามกฎหมาย เด็กหมายถึงบุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะในประเทศของตน ส่วนใหญ่จะกำหนดที่อายุ 18 ปี ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไร เด็กทุกคนต่างมีสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ รวมทั้งสิทธิในการพูดและแสดงความเห็น รวมทั้งสิทธิด้านความเท่าเทียม สุขภาพ การศึกษา สิ่งแวดล้อมที่ดี สถานที่ปลอดภัยเพื่อการดำรงชีพ และการคุ้มครองให้ปลอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง สิทธิเด็กได้รับการรับรองตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ. 2532 (UNCRC) ซึ่งนับเป็นสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่มีการให้สัตยาบันรับรองมากสุดในโลก มีเพียงประเทศเดียวจากรัฐภาคี 197 ประเทศที่ไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญานี้ คือสหรัฐอเมริกา

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมุ่งคุ้มครองให้เด็กปลอดพ้นจากอันตราย สนับสนุนการเติบโตและการพัฒนา และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในสังคม ข้อ 42 ของอนุสัญญาเป็นการแสดงพันธกิจที่จะให้การศึกษากับเด็กและผู้ใหญ่เกี่ยวกับสิทธิเด็ก แต่มักเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น การไม่ตระหนักถึงสิทธิทำให้เด็กเสี่ยงที่จะถูกปฏิบัติมิชอบ ถูกเลือกปฏิบัติ และถูกแสวงหาประโยชน์

นอกจากสิทธิเด็ก 4 ประการ ที่หลายคนอาจคุ้นหูกันมาบ้าง ในประเทศไทยยังมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อบังคับใช้คุ้มครองเด็กให้ได้รับการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และมีพัฒนาการที่เหมาะสม รวมถึงป้องกันมิให้เด็กถูกทารุณกรรม หรือกลายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 มี “10 สิ่งที่ทุกคนไม่ควรกระทำต่อเด็ก ไม่ว่าเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตาม” โดยนอกจากเป็นสิ่งที่อยู่ในสามัญสำนึกขั้นพื้นฐานแล้ว ยังเป็นข้อปฏิบัติที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย

10 สิ่งที่ห้ามกระทำต่อเด็ก ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
1. ห้ามกระทำการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
2. ห้ามจงใจ ละเลยการดูแล ไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิตหรือรักษาพยาบาลแก่เด็กที่อยู่ในความดูแลของตน จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
3. ห้ามบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด
4. ห้ามโฆษณาทางสื่อมวลชนหรือเผยแพร่ด้วยประการใด เพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติของเด็ก เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้ว
5. ห้ามบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทาน การกระทำผิด หรือการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก6. ห้ามใช้ จ้าง วานเด็กให้ทำงาน หรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจที่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก
7. ห้ามบังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม ยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือกระทำการแสวงหาประโยชน์ทางการค้า อันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก หรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก
8. ห้ามใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันทุกชนิด หรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณี สถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า
9. ห้ามบังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดง หรือกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด
10. ห้ามจำหน่าย แลกเปลี่ยน ให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์

อ้างอิง พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

 

ติดตามเรื่องราวดีๆ ได้ที่  conveyor-belts-belting.com